นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่อปวงชนชาวไทย โดยให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ของเด็กและ คนพิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและคนพิการให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด มีสุขภาพจิตที่ดีและใช้ชีวิตได้เท่าเทียมกับบุคคลอื่น สำหรับนโยบายการพัฒนางานสุขภาพจิต ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้มุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมสนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตตามพระราชดำรัส, พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและเกิดความสำเร็จได้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน และการร่วมแรงร่วมใจจากบุคลากรกรมสุขภาพจิต และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ใน ปี พ.ศ.2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับมูลนิธิพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ไว้ในพระราชูปถัมภ์ และพระราชทานพระราชานุญาต ให้โครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ มอบรถเข็นและอุปกรณ์การแพทย์ในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี แก่เด็กพิการ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ
สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการ วิจัยและพัฒนาสนับสนุนวิชาการด้านส่งเสริมพัฒนาการเด็กและสุขภาพจิตเด็ก ให้บริการทางการแพทย์ในระดับตติยภูมิแก่เด็กพัฒนาการล่าช้า ศึกษาวิจัยและถ่ายทอดนวตกรรมด้านพัฒนาการล่าช้าระดับนานาชาติ จากสถิติการให้บริการผู้ป่วยของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ในปี 2561 -2563 พบว่า 1 ใน 5 อันดับโรคแรกของผู้มารับบริการมีกลุ่มเด็กสมองพิการจำนวน 3,934 ราย, จำนวน 3,217 ราย และจำนวน 1,545 รายตามลำดับ ภาวะสมองพิการ ( Cerebral palsy) นอกจากจะส่งผลต่อความสามารถในการเคลื่อนไหว (Gross Motor Delay) แล้วยังส่งผลทำให้การเจริญเติบโตและการทำงานของอวัยวะบกพร่องผิดปกติ(Physical impairment) เช่น กล้ามเนื้อลีบ แขนขาเกร็ง นั่ง หรือยืน หรือเดินเองไม่ได้ เป็นภาระของผู้ดูแลต้องยกประคองหรืออุ้มเพื่อเดินทาง ทำให้ไปไหนไม่สะดวก
ในปี พ.ศ 2543 สถาบันพัฒนาการเด็กฯ เริ่มรับบริจาครถนั่งคนพิการ และอุปกรณ์ช่วยเดิน จากองค์กร Wheels of Hope สาขาประเทศไทย รวมถึงรับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศที่ไม่แสวงกำไรอื่น ๆ ทำให้ได้รับบริจาค รถนั่งชนิดพิเศษที่ไม่มีจำหน่ายในประเทศ เช่น รถเข็นปรับเอนในเด็กสมองพิการ ( Recliner wheelchair) รถเข็นเด็กอ่อนที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง รถเข็นคนพิการขาท่อนล่าง รถเข็นผู้สูงอายุชนิดล้อเล็ก รถเข็นผู้ป่วยติดเตียง แต่ละชนิดมีความหลากหลายเหมาะสมกับความพิการของแต่ละบุคคล ทั้งนี้รถเข็นนั่งทุกคันจะต้องปรับให้พอดีกับขนาดของผู้นั่งและจัดทำอุปกรณ์เสริมเพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยผู้ปฏิบัติงานของสถาบันฯร่วมกับทีมอาสาสมัครระดับมืออาชีพทั้งไทยและต่างประเทศ